กินอย่างไรให้ปลอดภัยจากไขมันในเลือด โดย รศ.พญ.ปรียานุช แย้มวงษ์
ในปัจจุบัน ภาวะ "ไขมันในเส้นเลือดสูง" ได้กลายเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญซึ่งมีผลต่อการเกิดโรคเลือดหัวใจตีบตันได้
ไขมันที่ละลายอยู่ในเลือดมีหลายประเภท โดยใช้เกณฑ์จากความหนาแน่นจากการรวมตัวของโปรตีนกับไขมัน และชนิดของไขมันที่เป็นส่วนประกอบ เช่น ถ้ามีการจับตัวกันหลวมๆ และมีไตรกลีเซอร์ไรด์เป็นส่วนประกอบหลักจะมีความหนาแน่นน้อย เรียกว่า VLDL ส่วนไขมันที่จับตัวกันดีขึ้น และมีคลอเลสเตอรอลเป็นส่วนประกอบหลักเรียกว่า LDL คลอเรสเตอรอล และถ้าเกาะกลุ่มกันดียิ่งขึ้น และมีคลอเรสเตอรอลเป็นส่วนประกอบหลักเช่นเดียวกัน ก็จะเป็น HDL คลอเรสเตอรอล ซึ่ง LDL คลอเรสเตอรอลนี้เป็นตัวร้ายที่ทำให้เกิดการสะสมในผนังเลือด ส่วนไขมันที่จับตัวกันแน่นจัดเป็นไขมันผู้พิทักษ์ที่จะช่วยลดการสะสมของไขมันในผนังของเส้นเลือด
ฉะนั้นพฤติกรรมในการบริโภคอาหารจึงเป็นปัจจัยสำคัญในการควบคุมปริมาณไขมันในเส้นเลือด ซึ่งผู้ป่วยควรเลือกบริโภคอาหารที่มีปริมาณไขมันต่ำ ปกติไม่ควรบริโภคไขมันเกิน 30% ของปริมาณพลังงานที่ได้รับ และลดการบริโภคของหวานและแอลกอฮอล์ ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ รวมทั้งออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเพิ่มการใช้พลังงาน พร้อมทั้งยังช่วยให้การทำงานของหัวใจดีขึ้นอีกด้วย
ยังไม่สายเกินไปที่จะหันมาเริ่มต้นดูแลเอาใจใส่ ดูแลสุขภาพของตนเอง เพื่อหลีกหนีให้ห่างไกลจากความเสี่ยงภาวะไขมันในเลือดสูงที่สามารถป้องกันได้ด้วยตัวคุณเอง
ที่มา
รายการโทรทัศน์พบหมอศิริราช